รีวิวพิธีแต่งงานแบบฉบับญี่ปุ่น ของเจ้าสาวซามูไร





 พิธีแต่งงานแบบญี่ปุ่น

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณสมาชิกหมายเลข 978363 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม

          วันนี้เราหยิบเอาอีกหนึ่งพิธีแต่งงานที่น่าสนใจ นั่นก็คือ พิธีแต่งงานแบบญี่ปุ่น จากประสบการณ์ตรงของ คุณสมาชิกหมายเลข 978363 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่ได้เข้าพิธีแต่งงานแบบญี่ปุ่นแท้ ๆ พร้อมกับแชร์ประสบการณ์และขั้นตอนต่าง ๆ มาให้เราได้เรียนรู้กันค่ะ เอาล่ะ...อย่ารอช้าไปชมรีวิวนี้กันเลยดีกว่า 
จริง ๆ แล้วเขียนเพจของตัวเองอยู่ที่ วีวี่ภาษาญี่ปุ่นรอบเตียง แต่อยากจะร้อยเรียงภาพในการงานวันแต่งออกมาเป็นลำดับขั้น และอยากจะแชร์การแต่งงานแบบญี่ปุ่นแท้ ๆ ให้กับคนที่สนใจหรือกำลังมีแพลนว่าจะแต่งกับคนญี่ปุ่น จึงมาใช้พื้นมี่พันทิปในการเขียนค่ะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้พบเห็นและสร้างความบันเทิงรื่นรมย์ให้ได้บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ

          เอาล่ะ ๆๆ ขออนุญาตใช้สำนวนภาษาเหมือนตอนเขียนในเพจตัวเองเลยละกันนะคะ เราใช่ชื่อแทนตัวเองว่า "วี่" ค่ะ และเจ้าบ่าวของเราชื่อ "เคน" ค่ะ (สำหรับความเดิมตอนก่อนหน้า ที่กว่าจะถึงวันนี้ติดตามอ่านได้ในเพจได้เลยฮะ) คือเข้าสู่ขั้นตอนเรื่อง ส่วนเนื้อหาอารัมภบทบรรยายโวหารต่าง ๆ นั้น วี่จะเขียนในเพจละกันนะคะ

          ถ้าแต่งงานที่ญี่ปุ่นแล้วละก็ต้องศาลเจ้านี้เท่านั้น "Tokyo daijingu 東京大神宮" ศาลเจ้านี้อยู่ใกล้ ๆ กับห้องพักของเคนตอนที่วี่ยังอยู่ญี่ปุ่น นอกจากจะเป็นศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงในเรื่องของความรักแล้ว ยังเป็นศาลเจ้าที่ทำพิธีแต่งงานต่อหน้าเทพเจ้าเป็นที่แรกของญี่ปุ่นอีกด้วย (อันนี้มารู้ทีหลังอีกที) มันดูมีอะไร มันดูมีความลึกซึ้ง มันดูใช่ มันดูเยอะดี วี่ชอบ เอาที่นี่แหละ

          วันที่ 15 พฤศจิกายน 2014

          วี่ก็เป็นผู้หญิงที่เยอะนิดหนึ่ง ก็เยอะอยู่ ก็เยอะมาก จึงนั่งสรุปตารางงานของตัวเองเพื่อให้เจ้าบ่าว แม่ และล่ามเพื่อนไว้ได้อ่านกัน ทั้งภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่นดังต่อไปนี้



Tokyo daijingu บอกเลยว่าเซียมซีเรื่องความรักนี่แม่นเว่อร์ แม่นสุด ๆ มีโอกาสต้องไปนะ อยู่สถานีรถไฟ iidabashi 飯田橋



ด้านข้างจะมีตึกที่เป็นทั้งห้องจัดเลี้ยงและห้องแต่งตัวอยู่ เป็นตึกสี่ชั้น (ถ้าจำไม่ผิดนะ) พิธีเริ่มประมาณบ่ายโมง เจ้าหน้าที่นัดให้มาเจอตั้งแต่ 10.30 น. เพื่อแต่งตัว แต่งหน้า ทำผม (ไม่สระผมไปเพื่อผมจะได้ไม่ลื่น และห้ามสไลด์ผมเพราะต้องเกล้าสูง) คือไม่มีซ้อมแต่งหน้าทำผมให้ก่อน คือรับสภาพกันหน้างานกันเลยทีเดียว แต่เอาวะ เราต้องเชื่อในคุณภาพของญี่ปุ่น (มโนโลกสวยไว้ก่อน เพราะกลัวไม่สวย) บอกเลยว่าวี่ไปหน้าสด โนเมคอัพ ผมไม่สระ เสื้อแขนยาว การเกงยีนส์ แมน ๆ ไปเลย



                            
                                       







พอเข้าไปถึงมีป้าสามคนเข้ามารุมพร้อมกัน ใช้เวลาไม่น่าจะถึงครึ่งชั่วโมงก็แปลงร่างเป็นดังภาพ คือเอาจริง ๆ วี่กลัวตัวเองปะ บอกเลยกลัว...เอิ่มใครหน้าไม่คุ้น หน้าขาววอก ปากเหลืออยู่นิดหนึ่ง ที่ต้องเกล้าผมอย่างนี้เพราะเดี๋ยวจะมีวิกผมซึ่งหนักประมาณสามคนหาบ (เคคะ วี่ก็เว่อร์ไป ประมาณ 2-3 กิโลกรัม) มาครอบและคลุมด้วยผ้าขาวอีกที กิโมโนนี้มีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า Siromuku 白無垢 

          กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างบนตัววี่ต้องใช้ทั้งหมดสามคนมาช่วยกันแต่ง แต่เหล่านางแต่งตัวเร็วมาก คือมีหลายชั้น ไม่พอพันโอบิ (ผ้าคาดเอว) อย่างหนาเข้าไปอีก วี่เชื่อเหลือเกินว่าถ้าเอามีดมาแทงที่พุงวี่ วี่ไม่ตายฮะ ถ้าจะตายนี่มีดต้องมีหนึ่งเมตรเป็นอย่างน้อย (เคฮะ เว่อร์ฮะ) ถึงจะแทงทะลุไปเจอพุง ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่จะเห็นว่าวี่ตัวกลม ๆ และมีก้อนอะไรอยู่ด้านหลังตลอดเวลา มันคือโอบิ (ผ้าคาดเอวนั่นเองฮะ)

          ทำไมต้องกิโมโนสีขาว

          จากการท่องโลกมีเดีย ตามเสิร์ชใน Wikipedia Japan แล้วพบว่า ในสมัยก่อนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับสี แน่นอนในแต่ละครอบครัวก็จะมีสี (รูปแบบ สไตล์ หรือขนบธรรมเนียม) ที่แตกต่างกันไป การที่เจ้าสาวแต่งเป็นสีขาวทั้งหมดนั้น ก็เพื่อจะสื่อความหมายที่ว่า เจ้าสาวคนนั้นพร้อมจะย้อมตัวเองให้เป็นสีเดียวกันกับสีของครอบครัวเจ้าบ่าวนั่นเอง


ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ หาอ่านได้ในเพจ วีวี่ภาษาญี่ปุ่นรอบเตียง ฮะ หึหึ โปรโมทเพจตัวเองแวบ

          วี่พร้อมค่ะ พร้อมถูกย้อมแล้วเป็นสีเดียวกันกับเคน (เขิลเนอะ หุหุหุ) ถ้าสังเกตชุดเจ้าบ่าวดี ๆ จะเห็นสัญลักษณ์อยู่บริเวณอกทั้งสองช้าง แขนทั้งสองด้าน สัญลักษณ์นั้นเป็นตราประจำตระกูลของครอบครัวนั้น ๆ เลยค่ะ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของศาลเจ้าจะสอบถามเราก่อนล่วงหน้า และเอาไปพริ้นท์ลงบนเสื้อของเจ้าบ่าวค่ะ ครอบครัวเจ้าบ่าวของวี่มีตราประจำตระกูลเป็นรูปนกกระเรียง 鶴 แบบเดียวกันกับตราของสายการบิน JAL ของญี่ปุ่นค่ะ ภาษาญี่ปุ่นเรียกสัญลักษณ์ประจำตระกูลว่า Kamon 家紋 แต่แค่นกกระเรียงก็มีหลายแบบแล้ว จำไม่ได้ว่ามันตัวไหนกันแน่





          เลือกลายกิโมโนสีขาวนี้เป็นลายดอกซากุระ เม้าส์เรื่องลองชุดนิดหนึ่ง เนื่องด้วยวี่ทำงานอยู่ที่ไทย เจ้าบ่าวทำงานอยู่ที่เวียดนาม เป็นเหตุให้ต้องนั่งเครื่องบินไปลองชุดกันก่อนหนึ่งครั้งก่อนแต่งงาน คือลองชุด เลือกลาย ห้านาทีเสร็จฮะ เพราะโดนจองไปเกือบหมดล่ะ แต่เลือกดอกไม้แต่งห้องจัดเลี้ยงใช้เวลาครึ่งวันฮะ

          ชุดเนี่ยคือลองใส่ลายอื่นที่มันเยอะ ๆ อย่างลายนกกระเรียงบิน ปักเนื้อละเอียดสวยงาม แต่พอใส่ปุ๊บเหมือนเมียยากุซ่าปั๊บ ตั้งธีมไปว่าจะเป็นสาวหวานเรียบร้อยบริสุทธิ์ จะขอกดซอฟท์มาเบา ๆ ที่ลายนี้แทน นอกจากสวยแล้วยังหนักด้วย บนหัวมีวิกสามกิโลกรัมยังไม่พอ ผ้าทั้งหมดที่ห่อหุ้มตัววี่ไว้น่าจะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 3-4 กิโลกรัม ทุกครั้งที่ย่างก้าววี่จะต้องคอยถือชายผ้าของตัวเองเอาไว้ตลอดเวลา มันยิ่งกว่าการเล่นยิมนาสติกที่ต้องเทคบาลานซ์ หัว หลัง ไหล่ และองศาข้อมือ เพื่อให้การถือชายผ้าออกมาได้อย่างสง่างาม




 สำหรับใครที่ติดใจกันว่าแล้วค่าเสียหายทั้งหมดเท่าไร เริ่มที่จำนวนแขกทั้งหมดที่ไปงานก่อน แค่ 51 คนค่ะ ที่ญี่ปุ่นจะไม่มีพ่อเพื่อน แม่เพื่อน ที่ทำงานของพ่อของแม่ไป หรือถ้าเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวก็จะมากันแค่คนเดียวจริง ๆ เพราะภรรยาเพื่อนเคนไม่ได้รู้จักเคนด้วย นี่เป็นธรรมเนียมของเขานะคะ หรือถ้ามาด้วยก็ต้องใส่ซอง เพิ่มขึ้นเท่าจำนวนของคนที่มาด้วย โดยประมาณต่อหัวที่ 30,000 Yen หรือ 9,000 บาท ธรรมเนียมในการใส่ซองเขียนไว้ด้านล่างแล้วนะคะ ล่างอ่านกันดูค่ะ รวมทุกสิ่งโลก ไม่ว่าจะของชำร่วย อาหาร ชุดกิโมโน ดอกไม้ เครื่องดื่ม ทั้งหมดราคาโดยประมาณ 600,000 กว่าบาทค่ะ เปรียบเทียบกับที่อื่นแล้วถือเป็นราคากลาง ๆ เลย ไม่ถูกแต่ก็ไม่ได้แพงเว่อร์อะไร เพราะวี่เลือกที่จะเปลี่ยนชุดแค่ 2 ชุดเองด้วย คือตัดไปเยอะอยู่เหมือนกัน เช่น ไม่จัดพิมพ์การ์ดแต่งาน ดอกไม้ตกแต่งก็น้อย จริง ๆ เจ้าสาวญี่ปุ่นเหล่านางจะเปลี่ยนกันหลายชุด ชุดกิโมโนขาว กิโมโนสี ชุดเจ้าสาว แล้วก็มีชุดเดรสสี ๆ อีก แต่ถึงกระนั้นก็ดีวี่ต้องขอก้มกราบเบญจางคประดิษฐ์คุณพ่อสามี ที่ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้.....กราบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบ

          หลังจากถ่ายรูปกันเสร็จแล้วก็เข้ามาในตัวอาคารเพื่อทำพิธีต่อไป คือการแนะนำญาติทั้งสองฝ่าย ด้านในตัวอาคารจะถูกจัดสไตล์ญี่ป่นจ๋ามาก ๆ





น้ำชาที่นำมาเสิร์ฟคือน้ำชาซากุระ ปกติเราจะไม่ค่อยได้เห็นกัน เพราะเป็นเครื่องดื่มสำหรับงานมงคลเท่านั้น ไม่อร่อยเลย วี่ว่าชาเขียวปกติอร่อยกว่ามาก แต่วินาทีนั้นคือได้แต่นั่งสวย ๆ ไม่ได้เก๊กอะไร แต่ขยับตัวไปไหนไม่ได้ ด้วยน้ำหนักรวมของเครื่องแต่งกายและหากว่าขยับทรงของชุดและชายผ้าที่จัดไว้จะเสียทรงทันที จึงต้องนั่งปักหลักยิ้มรออย่างเดียว

          ก่อนเริ่มพิธีเจ้าหน้าที่ประจำศาลเจ้าใช้ชุดเต็มยศ ที่เราจะเห็นเขายืนขายเครื่องรางอยู่บ้างตามศาลเจ้า วี่ลืมแล้วว่าชื่อในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าอะไร ขอประทานอภัยด้วย มาอธิบายขั้นตอนการหมุนไม้ ใช่...ฟังไม่ผิด หมุนไม้ น่าจะเป็นไม้มงคลนะ เพราะว่าหมุนเสร็จจะต้องยืนให้เทพเจ้าของศาล คือซ้อมหมุนกันนานมาก คนที่จะหมุนและยื่นให้กับเทพเจ้ามีเจ้าสาว เจ้าบ่าว และตัวแทนญาติของแต่ละฝั่ง คือ แม่เจ้าสาวกับพ่อเจ้าบ่าวเท่านั้น


           หลังจากซ้อมและแนะนำตัวกันเสร็จก็จะเข้าสู่การตั้งขบวน เพื่อเดินไปเข้าพิธี ญาติฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะต่อแถวยาว ญาติจะบ่าวและญาติเจ้าสาวจะยืนขนานกันเพื่อต่อแถวคนละฝั่ง


 ก่อนที่จะเข้าไปในศาลเจ้าจริง ๆ ต้องทำตามธรรมเนียมคือล้างมือ เพื่อชำระล้างความสกปรกออกไปก่อน




 ป้าที่ใส่กิโมโนประกบวี่อยู่ด้านข้าง หาใช่แม่วี่แต่อย่างใด แต่วันนั้นประหนึ่งแม่วี่ก็ว่าได้ ถ้าเทียบกันงานแต่งไทยก็คงจะเหมือนแม่งานรันคิวเลยทีเดียว ทำทุกอย่าง ค่อยยกชายกระโปรงผ้า จะลุกจะยืนจะนั่ง จะอะไร ป้าจะปรี่มาประกบเพื่อจัดชุดวี่ทั้งหมดให้สวยงาม ค่อยประคองเวลาเดินเจอบันไดหรือขั้นต่าง เพราะมันคำนวณได้ยากมากว่า เราจะต้องก้าวตัวองศาที่เท่าไรบ้างจึงจะรอดพ้นขั้นบันไดเหล่านั้นไปได้อย่าง ปลอดภัย ป้าจะคอยบอก สวยมากเลยค่ะ สวย ยิ้ม บอกขั้นตอนและสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นให้ เช่น เดี๋ยวญาติฝ่ายเจ้าบ่าวอาจจะมานั่งที่ในโซนของฝ่ายเจ้าสาวด้วย โอเคไหม หรือถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงตามที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อน ป้าจะนำเรื่องทั้งหมดมาถามก่อนเสมอ ป้าจะคอยสั่ง เวลาต้องกินอาหารที่เสิร์ฟนะ กินเลย ๆ ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้กิน ป้าจะคอยห้ามเพื่อนเคนไม่ให้ชนแก้วเคน เพราะเดี๋ยวจะต้องถ่ายรูปครอบครัว แล้วเคนจะตัวแดงไปเรื่อย ๆ ทำให้รูปออกมาไม่สวยงาม ค่าตัวป้านั้นสนนราคาอยู่ที่ 50,000 Yen หรือตีเป็นเงินไทยที่ 15,000 บาทเบา ๆ เท่านั้นเอง...เอิ่มมมมมมม แต่ป้าทำงานคุ้มเงินวี่ก็อิ่มใจ

          ล้างมือกันสะอาดบริสุทธิ์แล้ว ก็จะเข้าสู่ศาลเจ้าค่ะ ต้องตั้งขบวนกันก่อน ตอนแรกเลยวี่ไม่คิดว่าจะมีการเดินขบวนอลังการขนาดนี้ เพราะว่าเคนบอกไม่มีหรอก ศาลเจ้าเล็ก ๆ เอง นี่คืออีกสาเหตุหนึ่งที่เคนไม่ยอมให้เลือกศาลเจ้าเมจิ ซึ่งคนไทยเรารู้จักกันดี ถ้าไปโตเกียวต้องแวะถ่ายรูปศาลเจ้านี่แน่นอน เคนบอกไม่อยากเป็นตัวโชว์ให้ชาวต่างชาติมาถ่ายรูปงานแต่งตัวเอง คนมาดูเยอะ ๆ อาย ไม่ชอบ เป็นไงล่ะคุณผ. คุณผ. เจอไปเต็ม ๆ มาอลังการด้วย แต่วี่ชอบนะ มันอิน มันได้ความเป็นญี่ปุ่น หน้าขบวนจะมีคนเป่าขลุ่ย และกลองโบราณนำด้วย บรรยากาศดูขลังสุด ๆ






  ว่ากันด้วยเรื่องการแต่งกาย หลายคนอาจจะเคยเห็นพิธีแต่งงานของญี่ปุ่นแล้วสงสัยใช่ไหมคะ ว่าทำไมทุกคนจะแต่งตัวด้วยสีอึมครึมทั้งหมด และนั่นก็เป็นสิ่งที่วี่แม่สงสัย และกล่าวขึ้นว่า "ฉันไปงานแต่งนะ ไม่ได้ไปงานศพ ทำไมต้องงให้ฉันใส่สีดำ" ค่ะ แม่วี่เองค่ะ หาอ่านกันได้ในเพจ โฆษณาเลยว่าเด็ด นางเป็นต้นแบบพันธุกรรมของวี่ นางบอก "ฉันต้องสวยสิ ให้ฉันใส่สีดำทำไม ถ่ายรูปมาก็ไม่สวยสิ"..."ไม่เป็นไรแม่ ให้ลูกสวยคนเดียวพอนะ"..."หึ ก็ได้"

          สีดำเป็นสีแทนความสุภาพและเคารพ พ่อเจ้าบ่าวและญาติที่เป็นผู้ชายใส่ สีดำ เนคไทขาวไม่มีลวดลายเพราะเป็นงานมงคล แต่ถ้างานศพจะเป็นเนคไทดำ ส่วนแม่เจ้าบ่าวใส่กิโมโนสีดำ มีลายนกกระเรียง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำตระกูลปักด้วยดิ้นทอง แม่เจ้าบ่าวบอกว่าหลังจากแต่งงานกับพ่อเคนแล้ว พ่อเคนก็สั่งตัดให้ เพราะเป็นชุดที่ภรรยาประจำตระกูลนั้นจะต้องมีไว้ใส่ วี่นี่หันขวับไปมองหน้าเคนทันที และสะแหยะยิ้มเบา ๆ บอกไปทางสายตาว่าได้ยินแล้วสินะ

          มาที่ชุดแม่เจ้าสาวกันบ้าง จริง ๆ แล้วก็เหมือนกันกับแม่เจ้าบ่าว แต่ในกรณีนี้แม่วี่เป็นคนไทยเลยใส่แค่ชุดสีดำ แต่กว่าจะถึงวันงานนั้น แม่วี่ซื้อชุดสีดำมาทั้งหมดสี่ชุด

          "แม่ไปเจอชุดสีดำมา สวยดูดีเลย มา ๆ เดี๋ยวแม่ลองให้ดู"

          สองอาทิตย์ถัดมา

          "ก็ลูกบอกแม่ว่ามันหนาว แม่ก็เลยไปหาซื้อชุดสีดำแขนยาวมา"

          อีกสามอาทิตย์ต่อมา

          "ก็ลูกบอกแม่ว่ามันหนาว แล้วชุดนั้นมันกระโปรงแค่เข่า แม่ก็เลยไปซื้อชุดกระโปรงยาวมา" เอ๊ะ ! ประโยคคุ้น ๆ นะ

          อีกสามอาทิตย์ต่อมา

          "ก็แม่เห็นของ Calvin Klein มันลด ใส่แล้วนี่สง่าเลย".........................ตามนั้น

          มาสู่ขั้นตอนพิธีการกันบ้างค่ะ เข้าสู้ศาลเรียบร้อยก็ทำการเคารพเทพเจ้าประจำศาล นั่งกันคนละฝั่งก่อน



 เขาจะให้ดื่มเหล้ามงคล ยกขึ้นสองครั้งก่อนที่จะดื่มรวดเดียวหมด วี่กลัวว่าจะไม่งามเอาแค่ปากไปจิบ ๆ พอ



 ขั้นตอนต่อไปเป็นการประกาศต่อหน้าเทพเจ้าว่าเราจะเป็นสามีภรรยากันค่ะ เคนจะอ่านกระดาษในมือ เนื้อความก็เป็นการประกาศการเป็นสามีภรรยา แล้วก็พูดชื่อของบ่าวสาวตอนสุดท้าย



 มาสู่พิธีหมุนไม้ที่ซ้อมกัน บอกเลยน้องหมุนมั่วมาก ลืมไปแล้วปะ แค่ลึกขึ้นแล้วต้องหมุนชายผ้าทั้งหมดใหม่ก็ลืมแล้วปะ



 ตัวแทนญาติบ่าวสาวมาหมุนไม้

 
 หลังจากหมุนไม้เสร็จเราก็จะเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ได้มานั่งด้วยกันแล้วค่ะ



       อันนี้เป็นการรำต่อหน้าเทพเจ้า ตอนแรกงง ทำไมมีผีเสื้อ คือมาถามพ่อเคนทีหลังเขาบอกว่าเขาก็ไม่เคยเห็นมาก่อนเหมือนกัน ศาลเจ้านี่เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ นี่คงจะเป็นพิธีรำมงคลที่มีมาแต่ดั้งเดิม วี่อินเลย แต่ไม่เท่าว่าทำไมต้องผีเสื้อนะ



          เป็นอันเสร็จพิธีการ หลังจากนั้นจะเป็นช่วงเลี้ยงฉลองมงคลสมรสค่ะ



         หลังจากนั้นไม่เว้นช่วงฮะ เสียเวลาฮะ เข้าสู่พิธีเลี้ยงฉลองมงคลสมรสฮะ ห้องจัดเลี้ยงสวยงามเรียบง่าย


                                                      ที่นั่งของบ่าวสาว


 
   เค้กแต่งงานฮะ


 เจ้าสาวต้องเปลี่ยนชุดกันก่อน แต่วี่ยังไม่เลือกเปลี่ยน เพราะชุดที่ใส่อยู่นี่ค่าเช่า 300,000 เยน (100,000 บาท) โดยประมาณ วี่ขอใส่ให้คุ้มก่อนนะ ดังนั้นจึงแค่ขอเริ่มจากการเอาวิกหนักสามกิโลกรัมนี่ออกก่อน และเป็นดอกไม้มาเสียบแทน หลายคนถามดอกไม้จะใหญ่ไปไหม...ก็ไม่นะ ไม่เลย ธรรมเนียมนิยมมมมมมมมมมมม



 คือบอกเลยว่าญี่ปุ่นแต่งหน้าธรรมชาติมาก ๆๆๆๆๆ คือสวยนะ แต่คิ้ว ๆ คิ้วหนูหายค่ะ ต้องบอกนางว่าขอคิ้วเข้มกว่านี้อีกนิดหนึ่ง เดินเข้าสู่งานเปิดตัวบ่าวสาวพร้อมกัน




 หลังจากนั้นก็กล่าวเปิดตามปกติค่ะ มีคัมไปแล้วก็เข้าสู่การตัดเค้กเลย ตอนป้อนเค้กนี่เขาบอกกันว่า รักเท่าไหนให้ตักป้อนเท่านั้น วี่ก็เลยจัด...รักมากกกกกกกกกก



 ตอนเปลี่ยนชุดนะคะ เขาจะให้คนที่เราเคารพนับถือเป็นคนเดินพาเราออกไปเพื่อเปลี่ยนชุด เคนเลือกปู่เคน แต่วี่แน่นอนค่ะว่าแม่จ้า รักสุดนะ






   ออกมาจับภาพกันหน่อยก่อนเปลี่ยน...เก๊กแป๊บ




เปลี่ยนชุดที่สอง วี่เลือกสี่ส้มลายนกกระเรียงประจำตระกูล น้ำหนักเบากว่าเมื่อกี้นิดหนึ่งเพราะปีกด้วยดิ้นทอง สนราคาเช่าคร่าว ๆ นะคะ 400,000 yen ประมาณ 120,000 บาท ในภาษาญี่ปุ่นเรียกชุดนี้ว่า 色打掛 Irouchikake




          ยืนเทียบกับสาวญี่ปุ่นหน่อย ๆๆๆ ญาติ ๆ และน้องเคนค่ะ สำหรับผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานกิโมโนที่ใส่มาจะมีลวดลายสวยงามได้ แต่สีต้องไม่ทับลายกับสีของเจ้าสาวนะคะ





แล้วก็จะเป็นการให้ของที่ระลึกแทนคำขอบคุณจากบ่าวสาวให้กับพ่อแม่ เราเลือกเป็นรูปวาดเหมือนค่ะ น่ารัก รูปแม่ใส่กิโมโน




 สุดท้ายขออัพรูปกิโมโนงาม ๆ นะคะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์และบันเทิงแก่ผู้มาพบเห็น

          ด้วยรัก

          วี่





เพิ่มเติมเกร็ดเล็กของงานแต่งค่ะ

          งานแต่งทีญี่ปุ่นจะกำหนดจำนวนแขกชัดเจนค่ะ เพราะเขาจะคิดค่าใช้จ่ายเป็นหัวเลย ดังนั้นเราต้องแจ้งทางสถานที่แต่งงาน 1 เดือนล่วงหน้าเลยว่ามีจำนวนแขกเท่าไร พร้อมแจ้งชื่อนามสกุลของแขก และกำหนดที่นั่งของแต่ละคนว่าจะให้นั่งตรงไหนบ้าง เพราะเขาจะวางป้ายชื่อของแขก ตรงที่นั่งไว้พร้อมกับของชำร่วยไว้เลย

          มาที่เงินใส่ซองกันบ้าง

          เริ่มต้นที่ 10,000 เยน (3,000 บาท) สำหรับเพื่อนไม่สนิท ต่อมาก็ 30,000 เยน 50,000 เยน ไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ ที่ต้องเป็นเลขคี่เพราะว่าแบงค์ของญี่ปุ่นเป็นแบงค์ 10,000 เยน 1, 3, 5 มันแบ่งครึ่งแยกออกจากกันไม่ได้ค่ะ และจะต้องเป็นแบงค์ใหม่ เพราะเราทราบล่วงหน้าแล้วว่าจะมีงานนี้ เป็นการบอกว่าเราเตรียมพร้อมที่จะไปงานคุณนะ ในทางกลับกันถ้าเป็นงานศพ จะต้องเป็นแบงค์เก่า เพราะเราไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เป็นยังไง ลึกไหม...ลึกกกกกกกกก



 


รีวิวพิธีแต่งงานแบบฉบับญี่ปุ่น ของเจ้าสาวซามูไร รีวิวพิธีแต่งงานแบบฉบับญี่ปุ่น ของเจ้าสาวซามูไร Reviewed by Unknown on 07:23 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น