เปิดโลก เคียนซา เพชรงามลุ่มน้ำตาปี




 © Kom Chad Luek เปิดโลก เคียนซา เพชรงามลุ่มน้ำตาปี

เอ่ยชื่อ "เคียนซา" น้อยคนจะรู้ว่าเป็นอำเภอหนึ่งของจ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีสิ่งดีๆ ทั้งทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ให้เราค้นหา ทว่าถูกมองข้ามไป พูดก็พูดเถอะ อำเภอนี้เพิ่งถูกกล่าวถึงเมื่อไม่นานมานี้ ในฐานะที่เป็นอำเภอบ้านเกิดของ "อรอุมา สิทธิรักษ์" นักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ตัวตบหัวเสาทรงพลัง เจ้าของตำแหน่ง "ผู้เล่นทรงคุณค่าแห่งเอเชีย 2552" แต่กระนั้น ก็ยังมีข้อสงสัยว่าชื่อ "เคียนซา" มีที่มาอย่างไร บางคนว่าฟังดูแปลกๆ เหมือนภาษาจีนไปโน่น ผมลองประมวลที่มาของชื่อ อ.เคียนซา ได้ 2 แนวทาง คือ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ บรรดาหัวเมืองได้รับคำสั่งให้จัดหาไม้อย่างดี ส่งไปสร้างเรือพระที่นั่ง มณฑลนครศรีธรรมราชจึงจัดหาไม้ตะเคียนที่มีลักษณะงาม 2 ต้น จากท้องที่ อ.เคียนซาปัจจุบัน แต่เมื่อโค่นล้มลงและทำเรือโกลนเสร็จแล้ว ไม่สามารถนำออกจากป่าได้ เรือโกลนจากไม้ตะเคียนจึงยังคาอยู่ในป่า ต่อมาเมื่อมีชุมชนเกิดขึ้น จึงได้ชื่อ "บ้านเคียนคา" ภายหลังกลายเป็น "เคียนซา" ตราบจนวันนี้ แนวทางต่อมาเล่าว่า ในอดีต มีเจ้าเมืองท่านหนึ่ง จัดไพร่พลออกไปหาชัยภูมิตั้งเมืองใหม่โดยขบวนเรือเล็ก เรียกกันว่า "เรือเกวียน" ล่องไปตามลำน้ำตาปี จนถึง อ.เคียนซา ปัจจุบัน ขบวนเรือเกวียนได้ซาลง (ลดความเร็วลง)

เพื่อเจ้าเมืองได้สำรวจพื้นที่ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนั้นว่า "บ้านเกวียนซา" ต่อมาเสียงเพี้ยนเป็น "เคียนซา" สัญจรสู่ อ.เคียนซา เมื่อปลายกุมภาพันธ์ เป็นฤดูใบยางเปลี่ยนสี จากเขียวขจีเป็นสีส้ม เหลือง แดง เวลานั่งรถลัดเลาะเข้าไปในสวนยางช่างงามพิสุทธิ์ ชวนให้หยุดรถลงไปบันทึกภาพไว้ด้วยใจเบิกบาน และด้วยความเข้าใจในหัวอกชาวสวนยางยามนี้ นี่ถ้าราคายางสูงและสวยเหมือนสีสันใบยาง บรรยากาศคงจะดีกว่านี้ แต่ที่แน่ๆ ถ้านักปั่นจักรยานได้มาเห็นเส้นทางนี้ต้องหลงรัก เพราะสภาพพื้นที่เคียนซาส่วนใหญ่ไม่ใช่ภูสูง แต่ก็ไม่ราบเรียบจนน่าเบื่อ ด้วยมีลอนเนินแบบที่ชาวใต้เรียก "ควน" สลับกับความคดโค้งของเส้นทางผ่านสวนยาง ให้นักปั่นได้ตื่นเต้นพองาม ยิ่งยามเช้า อากาศยังเย็นสบาย จนผมจินตนาการว่าน่าจะเป็นเส้นทางปั่นจักรยานที่วิเศษสุดเส้นทางหนึ่งทีเดียว ตกตอนสาย อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น แนะนำให้แวะชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ บ่อถ่านหินโบราณ ที่บ้านพรุส้ม ต.พ่วงพรมคร

แม้วันนี้อาจเห็นเป็นเพียงบึงน้ำกว้างใหญ่อันสงบเงียบ เหมาะแก่การเป็นที่พักผ่อนชมธรรมชาติ บึงบัว และให้อาหารปลา ทว่า ในอดีต เคยเป็นเหมืองถ่านหินแห่งแรกของสยามประเทศ โดยมีบริษัทบ่อถ่านหินศิลาสยาม ดำเนินกิจการเหมืองเป็นล่ำเป็นสัน ช่วง พ.ศ.2463-2468 สมัยรัชกาลที่ 6 ถึงขั้นสร้างทางรถไฟเพื่อขนส่งถ่านหินไปลงเรือที่ท่าเรือเคียนซา ริมฝั่งน้ำตาปี มีการจ้างฝรั่งผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้จัดการ มีคนงานนับพันคน นับว่าที่นี่เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในสยาม โดยเฉพาะปีหน้า พ.ศ.2559 เป็นวาระครบรอบ 100 ปี ที่มีพระบรมราชโองการในล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ให้สงวนที่ดินใน ต.พ่วงพรมคร ไว้เป็นที่ขุดถ่านหิน อันควรค่าแก่การฟื้นอดีตขึ้นมาให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้กันอีกครั้ง น่าสนใจว่า ใต้ธรณีของ อ.เคียนซา อาจมีลักษณะพิเศษ เพราะไม่ไกลกันในเขต ต.พ่วงพรหมคร ยังมี "บ่อน้ำร้อนสองพี่น้อง" เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและสุขภาพ ด้วยเชื่อกันว่าน้ำร้อนที่อุณหภูมิราว 40 องศาเซลเซียสที่พวยพุ่งออกมา

มีคุณสมบัติดีต่อผิวพรรณมนุษย์ เช่นเดียวกับบ่อน้ำร้อนที่บ้านเขาตอก ต.เขาตอก แม้ว่าวันนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น แต่เชื่อว่าในอนาคต หากมีการพัฒนาและปรับปรุงให้ดูดี มีรสนิยม ก็สามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้สบายๆ ขออย่างเดียว อย่าดัดแปลงธรรมชาติจนเกินงาม จะปรุงแต่งสิ่งใดก็ให้สอดคล้องกับธรรมชาติดั้งเดิมจะดีกว่า พออุณหภูมิร้อนแรงตอนใกล้เที่ยง แนะนำให้แวะชม "เขางาย" (สำเนียงปักษ์ใต้ว่า "เขาฮาย")

มหัศจรรย์ภูเขาหินปูนในวงล้อมของสวนยางแห่ง ต.บ้านเสด็จ มีลักษณะแปลกตาน่าฉงน แลคล้ายเขาพิงกัน ผสมถ้ำลอดที่อ่าวพังงา บวกกับถ้ำมรกตในทะเลตรัง เพราะเข้าไปภายในแล้วมีช่องให้แสงแดดสาดส่องลงมาตรงกลาง ต่างกันตรงที่เขางายเป็นถ้ำบก แต่ก็มีหินงอกหินย้อยพิสดารไม่แพ้กัน ที่สำคัญคือถึงด้านนอกจะร้อนตับแลบเพียงใด แต่ด้านในเหมือนติดแอร์เย็นสบาย ในอดีต ช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์เขตงานสุราษฎร์ธานี ค่าย 514 เคลื่อนไหวในพื้นที่ อ.เคียนซา เคยใช้ที่นี่เป็นเสมือน "ห้องเย็น" เก็บยารักษาโรค

ซึ่งถือเป็นยุทธปัจจัยสำคัญในการทำสงครามประชาชน "คลังยา ณ เขางาย" จึงเป็นพื้นที่ปิดลับขั้นสูง บรรดาสหายแห่งค่าย 514 ส่วนใหญ่ ก็รู้เพียงว่าที่นี่เป็นโรงเรียนแพทย์ที่พรรคจัดตั้งขึ้นเพื่อผลิต "หมอของประชาชน" ครั้นเมื่อการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ยุติลง จึงมีสำนักสงฆ์มาตั้งตรงปากถ้ำ จนถึงวันนี้ มีแนวโน้มจะได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อันโดดเด่นด้วยทรวดทรงองค์เอวของเขานั้นเย้ายวนใจบรรดานักปีนเขา หากมีการบริหารจัดการที่ดี ที่นี่จะรองรับนักท่องเที่ยวได้หลากหลายแนวทีเดียว ตกตอนบ่าย ชวนกันไปสักการะพระเจดีย์แห่งวัดในปราบ ต.บ้านเสด็จ ของหลวงพ่อชื่น เกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งลุ่มน้ำตาปี

จากนั้น ขับรถลัดเลาะไปตามสวนยางอีกไม่ไกล ก็จะถึง ศูนย์เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ ค่าย 514 (ศรป.514) แหล่งเรียนรู้ธรรมชาติป่าเขตร้อนชื้น และเรียนรู้ประวัติศาสตร์สังคม ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ เขตงาน 514 (พ.ศ.2509-2527) ตั้งอยู่ที่บ้านในปราบ ต.บ้านเสด็จ เช่นกัน การเกิดขึ้นของศูนย์นี้ มิใช่เพื่อตอกย้ำความรุนแรงและการสูญเสียเลือดเนื้อ จากการสาดกระสุนเข้าหากันเช่นในอดีต แต่เป้าหมายสำคัญคือมุ่งปลูกฝังคุณธรรมเรื่องการเสียสละเพื่อส่วนรวมแก่เยาวชน ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ผมได้เห็นลูกเสือจากโรงเรียนละแวกเคียนซา เข้ามาใช้ค่าย 514 เป็นฐานฝึก เด็กๆ จึงได้ซึมซับเรื่องราวในอดีต ซึ่งอาจมีลุงป้าน้าอาของพวกเขามีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์นั้นด้วย ในฐานะ "สหาย" แห่งค่าย 514 และวันเสาร์ที่ 14 มีนาคมนี้ จะมีงาน "รำลึกตำนานหาญกล้า ค่าย 514" มีการแสดงสวนสนาม รำโบกธง ยุทธวิธีลีลาปืน 18 ประตู พร้อมมีวงดนตรี "ตะวันแดง" ของอดีตสหายบรรเลงรมย์ตลอดทั้งวัน งานนี้เปิดกว้างให้เข้าชมฟรี แถมมีอาหารตำรับสหาย 514 ให้อิ่มท้องกันอีกด้วย

(ขอขอบคุณ ภาพสวยเคียนซา โดย พศวัฒน์ สิริศิลปะสรณ์ , จิรา ชุมศรี และสมบัติ ทองม้วน)

...................................
ที่มา: http://www.msn.com/

เปิดโลก เคียนซา เพชรงามลุ่มน้ำตาปี เปิดโลก เคียนซา เพชรงามลุ่มน้ำตาปี Reviewed by Unknown on 04:18 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น