รายงานการเมือง :: คิดต่างกรณียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
กรณีครม.มีมติให้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี
โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด มีเลขาธิการนายกฯ เป็นประธาน เลขาธิการครม. และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นรองประธาน
ทำหน้าที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว โดยนำนโยบายรัฐบาล 11 ข้อ ประเด็นปฏิรูปของ คสช. 11 ด้าน และสปช. 36 เรื่องมาเป็นกรอบ
มีข้อสงสัยว่าเป็นการตีกรอบการทำงานของรัฐบาลในอนาคต และซ้ำซ้อนกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีอยู่หรือไม่
ยอดพล เทพสิทธา
นิติศาสตร์ ม.นเรศวร
การตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากสืบทอดอำนาจ เป็นที่นั่งสำหรับกมธ.ยกร่างฯ และสมาชิกสปช.บางราย เพื่อคอยกำกับการปฏิรูปประเทศตามแนวทาง คสช.ให้ต่อเนื่อง หลังจากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว
ต้องติดตามถึงการกำหนดที่มา อำนาจหน้าที่ และหลักการสำคัญของคณะกรรมการยุทธศาสตร์นี้จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก
หากบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ชัดเจนว่าสิ่งที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ระบุรัฐบาลใหม่สามารถแก้ไขยุทธศาสตร์ที่คิดว่าไม่จำเป็นได้นั้น จะเป็นไปได้ยากมาก เพราะกมธ.ยกร่างฯ ล็อก 2 ชั้นสำหรับการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ต้องผ่านศาลรัฐธรรมนูญและทำประชามติ
การตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสานต่อการปฏิรูป ไม่มีเหตุผลที่ดีพอมารองรับ เพราะรูปแบบของสภาที่ปรึกษาเดิมก็มีมากอยู่แล้ว อย่างสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คอยให้คำปรึกษาฝ่ายบริหารอยู่แล้ว
การตั้งคณะกรรมการชุดอื่นเพิ่มขึ้นอีกจะวุ่นวายมากเมื่อประเทศเรามีการเลือกตั้งแล้ว เพราะประเทศจะมีนโยบาย 2 ทาง ด้านหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง อีกด้านหนึ่งมาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์
หากรัฐบาลเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม แต่ไม่สอดคล้องกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ จะทำอย่างไร นโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องถูกขัดขวางหรือยกเลิก แล้วดำเนินการตามคณะกรรมการยุทธศาสตร์หรือไม่
แนวทางนี้ เท่ากับสร้างกรอบการทำงานให้กับรัฐบาลในอนาคต สมดุลอำนาจระหว่าง 3 อำนาจจะเสีย องค์กรนี้ไม่ได้มีสถานะแบบศาลที่อยู่ในอำนาจตุลาการ แต่ตั้งมาลอยๆ โดยรัฐธรรมนูญ
ไม่ต่างจากผู้มีบารมีนอกระบอบการเมือง แต่คราวนี้ผู้มีบารมีทางการเมืองนี้จะเข้ามามีที่ทางในรัฐธรรมนูญ
อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง
มีหลายประเด็นที่ต้องถกเถียง ต้องดูว่ารัฐบาลนี้จะให้อำนาจกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มาร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มากแค่ไหน เช่น การดำเนินนโยบายบริหารประเทศ หรือความสามารถในการกำหนดว่ารัฐบาลใหม่ต้องทำตามนโยบายที่รัฐบาลนี้ได้เริ่มทำไว้
การกำหนดนโยบายให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องที่มีความละเอียดซับซ้อน ต้องแยกเรื่องให้ชัดเจน อย่างการบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการวางแผนทางเศรษฐกิจ ที่จะหวังให้เห็นผลใช้ระยะเวลาต่างกัน
ก่อนอื่นต้องมีพิมพ์เขียวเผยแพร่ให้สาธารณะเข้าใจว่ายุทธศาสตร์ชาติมีเรื่องอะไรบ้าง มีวิธีการดำเนินการอย่างไร และคาดว่าผลที่ได้จะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นต้องตอบสนองประชาชน ประชาชนอยากได้นโยบายแบบใดต้องตอบสนองเพื่อโอกาสที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนประชาชน นี่คือรูปแบบสากล
หากยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลชุดนี้เสนอแต่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอ้างว่าประชาชนไม่ต้องการ โอกาสที่ยุทธศาสตร์นั้นจะถูกพับเป็นไปได้สูง
หากรัฐบาลนี้หวังจะให้ยุทธศาสตร์สามารถดำเนินการได้จริง ต้องเผยแพร่ สร้างความเข้าใจ และต้องเปิดโอกาสให้วิพากษ์วิจารณ์รวมทั้งตรวจสอบได้
ถ้ายุทธศาสตร์ดีจริง สร้างหลักประกันความน่าเชื่อถือให้ประชาชนได้ ประชาชนก็จะส่งต่อให้นักการเมืองสานต่อเอง แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ตรงกันข้ามกรรมการชุดนี้ก็มีโอกาสที่จะกินเงินเดือนฟรี ข้อเสนอต่างๆ จะกลายเป็นการพูดกันลอยๆ
ปัญหาอย่างหนึ่ง ในเมื่อตัวแปรสำคัญของการดำเนินนโยบายหรือยุทธศาสตร์ต้องเป็นความต้องการของประชาชน คำถามจะตามมาว่าปัจจุบันนี้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งมากแค่ไหนที่จะผลักดันนโยบายที่ต้องการและโอกาสการมีส่วนร่วม
เพราะยังคงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ในระยะยาว
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุรัฐธรรมนูญใหม่เขียนไว้คณะรัฐมนตรีต้องบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวทางนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและตามยุทธศาสตร์ชาติ จึงต้องมาตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี
หากสปช.ให้ความเห็นชอบเรื่องดังกล่าว เท่ากับเป็นการมัดมือชกรัฐบาลชุดต่อๆ ไปที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ให้ต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาล คสช.กำหนดเอาไว้
ส่วนที่ระบุจะเปิดช่องให้รัฐบาลชุดหน้าที่จะเข้ามาได้คิดยุทธศาสตร์บางส่วนเองบ้างนั้น ในทางปฏิบัติจะมีความเป็นไปได้หรือที่รัฐบาลจะคิดหรือทำอะไรได้ ในเมื่อแผนยุทธศาสตร์ชาติได้กำหนดแกมบังคับไว้แล้ว
และเกิดความสงสัยว่าจะแก้แผนยุทธศาสตร์ชาติเหมือนแก้แผนพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างไร เพราะทำได้ยากและอาจเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญเข้าไปอีกหรือไม่ เพราะถ้ารัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการแก้ไขแผนยุทธศาสตร์ชาติก็อาจสุ่มเสี่ยงโดนร้องและถูกถอดถอนเหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์
หรือเมื่อแก้แผนยุทธศาสตร์ชาติแล้วทำไม่ได้ ไม่สำเร็จ จะกลายเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
สุดท้ายแล้วแผนยุทธศาสตร์ชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องการผูกมัดให้รัฐบาลชุดต่อไป ให้ต้องเดินและทำตามที่รัฐบาล คสช.กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ ห้ามเดินออกนอกกรอบนี้
แล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะมีความหมายอะไรในเมื่อถูกตีกรอบด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติไปแล้ว
รายงานการเมือง :: คิดต่างกรณียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
Reviewed by Unknown
on
07:15
Rating:
Post a Comment