อยากเรียน "วิศวะ" รู้จัก "วิศวะ" ดีพอรึยัง

 

อยากเรียน "วิศวะ" รู้จัก "วิศวะ" ดีพอรึยัง มาทำความรู้จัก วิศวะแต่ละสาขากันดีกว่า

แต่ละปีมีแต่คนอยากเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ บางคนเข้าไปเพิ่งมารู้ตัวเองว่าเรียนไม่ได้ ต้องเสียเวลาฟรี ลองมาทำความรู้จัก สาขาของวิศวกรรมศาสตร์แต่ละสาขากันก่อนดีกว่า

วิศวกรรม


วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Engineering)

ศึกษาเรื่องระบบ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีต้นแบบที่ใช้ในการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆแทบทุกชนิด และคิดค้น นวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งศึกษาระบบสื่อสาร ระบบภาพ ระบบเพื่อความบันเทิง ด้านการแพทย์ การทหาร ที่ต้องใช้อุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ ในการทำงาน

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา เป็นวิศวกรวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ด้าน อิเล็กทรอนิกส์ ให้กับหน่วยงานของรัฐ และเอกชน รวมทั้งพัฒนาอุปกรณ์ด้าน อิเล็กทรอนิกส์ ในภาคอุตสาหกรรม


 วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering)

ศึกษาระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ทั้งด้าน ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเช่น Network การออกแบบระบบฝังตัวสมองกล มัลติมีเดีย การเขียนโปรแกรมแบบขนานและกระจาย รวมทั้งการออกแบบเครือข่าย วิเคราะห์สัญญาณ

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ด้านคอมพิวเตอร์ วิศวกรซอฟต์แวร์ ผู้ดูแลระบบให้กับองค์กรต่างๆ นักออกแบบมัลติมีเดีย ที่ปรึกษาบริษัทต่างๆด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ


วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering)

ศึกษา การพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยใช้ความรู้ด้าน วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะพัฒนาโปรแกรมที่มีขนาดใหญ่ ใช้การประมวลผลแบบขนานและกระจาย

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษาเป็นวิศวกรพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ให้ภาครัฐและเอกชน ผู้ดูแลระบบขององค์กร วิศวกรรักษาความปลอดภัยข้อมูลขององค์กร


 วิศวกรรมโทรคมนาคม(วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร) (Telecommunication Engineering)

ศึกษาระบบสื่อสารและโทรคมนาคมต่างๆ เช่น ระบบไมโครเวฟ ระบบดาวเทียม การเรียนรู้และการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารสมัยใหม่ ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและการสื่อสาร

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรด้านโทรคมนาคมให้กับบริษัทด้านโทรคมนาคมต่างๆ วิศวกรการไฟฟ้า วิศวกรให้คำปรึกษาด้านโทรคมนาคม วิศวกรระบบ


 วิศวกรรมระบบควบคุม (Control system Engineering)

ศึกษาด้านการนำความรู้และการคำนวณทางคอมพิวเตอร์มาควบคุมระบบอัตโนมัติเช่น การควบคุมหุ่นยนต์แบบอัตโนมัติ การให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลด้วยภาพและเสียง การควบคุมระบบอัจฉริยะสมองกล การใช้ทักษะและความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ควบคุมกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรควบคุมการผลิตในโรงงงานอุตสาหกรรมอาทิ วิศวกรควบคุมระบบหัวจ่ายน้ำมัน วิศวกรควบคุมการเดินรถไฟฟ้า ระบบจราจร วิศวกรพัฒนาอุปกรณ์ด้านไฟฟ้าให้เป็นระบบอัตโนมัติ


 วิศวกรรมเครื่องมือวัด (Instrumentation Engineering)

ศึกษาในการนำข้อมูลซึ่งได้จากอุตสาหกรรมเช่น อุณหภูมิ ความดัน ระยะทาง ความดัง แรงสั่นสะเทือน เพื่อนำมาประมวลผลเพื่อใช้ในการประยุกต์กับวิศวกรรมระบบควบคุม เพื่อให้ได้ระบบอัตโนมัติที่มีความมั่นคง แน่นอนในการผลิตด้านอุตสาหกรรม

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรตรวจสอบเครื่องมือและการวัดคุม อุปกรณ์ต่างๆของภาคอุตสาหกรรมและรัฐเพื่อให้มาตรฐานของเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรมได้มาตรฐานและมีความแม่นยำ


วิศวกรรมอัตโนมัติ (Automation Engineering)

ศึกษาด้านการออกแบบ สร้างและพัฒนา ระบบการจัดการต่างๆของระบบอัตโนมัติ กระบวนการผลิตอัตโนมัติ อาคารอัจฉริยะ ระบบอัจฉริยะ โดยใช้ความรู้ด้าน วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมระบบควบคุม และวิศวกรรมเครื่องกล โดยอาศัยการจัดการทางสารสนเทศ

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา สามารถทำงานได้ทั้งรัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมที่ต้องออกแบบระบบอัตโนมัติ เช่น ระบบจ่ายเงินอัตโนมัติ(ATM) ระบบบ้านอัจฉริยะ อุตสาหกรรมน้ำมันก๊าด


 วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering)

ศึกษาโดยการใช้ความรู้ด้าน ฟิสิกส์ เคมี ฟิสิกส์ มาประยุกต์ใช้งานด้านกลศาสตร์ การออกแบบเครื่องจักรกล ระบบไฮดรอลิกซ์ รากฐานหุ่นยนต์ พลศาสตร์การบิน การควบคุมการผลิตเครื่องจักรกล การออกแบบบำรุงรักษาเครื่องจักรกลในโรงงานอุตสาหกรรม

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรเครื่องกล ในการออกแบบเครื่องจักรกล ระบบความร้อน วิศวกรในโรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน วิศวกรยานยนต์ วิศวกรด้านการบิน วิศวกรด้านหุ่นยนต์และระบบควบคุมอัตโนมัติ


 วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ ( Mechatronic Engineering)

ศึกษาด้านวิศวกรรมโดยการประยุกต์สาขา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมการผลิตการผลิต วิศวกรรมระบบควบคุม มาออกแบบเครื่องจักรกลสมัยใหม่ เช่น หุ่นยนต์ แขนกล ระบบอัตโนมัติทุกชนิดโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสิ่งควบคุม เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติ

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรรมอากาศยาน วิศวกรควบคุมการผลิตของโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบกระบวนการผลิตสมัยแบบที่ หรือ ระบบการผลิตที่มนุษย์ไม่สามารถผลิตได้

วิศวกรรมเครื่องมือ (Tools Engineering)
ศึกษาโดยเน้นการออกแบบเครื่องมือ และการเลือกวัสดุมาใช้เป็นเครื่องมือโดยผลิตจากวัสดุประเภทโลหะ อโลหะ โดยจะศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมวัสดุ เพื่อผลิตเครื่องมือสมัยใหม่ รวมทั้งการใช้เครื่องมือในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพสูงสุด
อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือกล แม่พิมพ์พลาสติกและขึ้นรูปโลหะในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และ อิเล็กทรอนิกส์ โดยออกแบบและควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์


 วิศวกรรมเครื่องกลเกษตร (วิศวกรรมเกษตร) (Agricultural engineering)

ศึกษาทักษะความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกลโดยใช้ความรู้ด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร ออกแบบและควบคุมกระบวนการผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมการเกษตร การเตรียมเนื้อที่ การเก็บเกี่ยว การใช้เครื่องมือเครื่องใช้ด้านการเกษตร ผลิตอุปกรณ์ใหม่ๆทางเกษตร

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรควบคุมการผลิต ผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร การแปรรูปสินค้าทางเกษตร ระบบชลประทาน โดยสาขานี้สามารถสอบใบ กว (ใบประกอบวิชาชีพวิศวกร) ในสาขาเครื่องกลได้


 วิศวกรรมโยธา (Civil Engineering)

ศึกษาด้านวิศวกรรมโยธา เช่นการวิเคราะห์โครงสร้างต่างๆ ควบคุมการก่อสร้าง งานตรวจสอบคุณภาพ การพัฒนาวัสดุก่อสร้าง การวิเคราะห์ทางธรณีและชลศาสตร์ การสำรวจพื้นที่ต่างๆ ร่วมไปถึงการบริหารจัดการก่อสร้าง โดยใช้ทรัพยากรและวัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรโยธาก่อสร้างตึก เขื่อน วิศวกรสำรวจ วิศวกรด้านโครงสร้าง วิศวกรด้านควบคุมและออกแบบระบบจราจร วิศวกรภาคอุตสาหกรรมเช่น ปูนซีเมนต์ ไม้ฝาบ้าน


วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering)

ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบ ระบบบำบัดน้ำเสีย โดยใช้ความรู้จากวิศวกรรมโยธา เคมี และชีววิทยา มาประยุกต์ใช้ การศึกษาระบบน้ำทิ้งของโรงงาน น้ำบริโภค การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มลพิษทางอากาศ มลพิศทางดินและน้ำ ตลอดจน กากของสารอันตรายที่ออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรการประปา วิศวกรสิ่งแวดล้อมให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมแก่โรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข


 วิศวกรรมเหมืองแร่ (Mining Engineering)

ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางด้านฟิสิกส์ ธรณีวิทยาประยุกต์ เพื่อการวิเคราะห์ ออกแบบ และแก้ไขปัญหาด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ และ วิศวกรรมโยธา การควบคุมการทำเหมืองแร่ การผลิตสินแร่ วัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรเหมืองแร่ ในการขุดหาถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน รวมถึงอัญมณีใต้พื้นดิน และใต้ทะเล วิศวกรผลิตและแปรรูปแร่ธาตุต่างๆ

 วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering)

ศึกษาด้านการออกแบบและควบคุมกระบวนการผลิตด้านอุตสาหกรรมเคมี รวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้านเคมี โดยจะต้องศึกษาทั้งด้านวิศวกรรมเครื่องกล และวิทยาศาสตร์เคมี มาประยุกต์ด้วยกัน

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรเคมี ตามโรงงานต่างๆเช่น โรงงานน้ำมัน ปิโตรเคมี พลังงาน สิ่งแวดล้อม ยาและอาหาร วิศวกรควบคุมและวางแผนการผลิต วิศวกรออกแบบอุปกรณ์และเครื่องมือด้านเคมีภัณฑ์


 วิศวกรรมปิโตรเคมีและวัสดุโพลิเมอร์

ศึกษา ความรู้ด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การแปรรูปน้ำมัน ปิโตรเลียม แก๊สธรรมชาติ สินแร่ วัสดุศาสตร์ การจัดการและออกแบบอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมีจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ออกแบบและพัฒนาวัสดุโพลิเมอร์

อาขีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรควบคุมการผลิตด้านปิโตรเคมี พลาสติก ยาง สิ่งทอ สร้างเคลือบ กาวอุตสาหกรรมแปรรูปแป้ง วิศวกรควบคุมคุณภาพ


 ศวกรรมปิโตรเลียม (Petroleum Engineering )

ศึกษาด้านธรณีวิทยา ฟิสิกส์ มาประยุกต์ใช้กับความรู้ด้าน วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเหมืองแร่ เพื่อการสำรวจและขุดเจาะแหล่งพลังงาน ที่อยู่ใต้พื้นดิน คำนวณความคุ้มค่าในการขุดเจาะ ศึกษาด้านปิโตรเคมี พลังงานและสิ่งแวดล้อม

วิศวกรปิโตรเลียมเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการสำรวจหาและออกแบบวิธีการที่จะผลิตน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติจากแหล่งปิโตรเลียมที่สำรวจพบ วิศวกรที่จะพิจารณาและพัฒนาหาวิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด


 วิศวกรรมอาหาร (Food Engineering)

ศึกษา ด้านการออกแบบเครื่องจักรกลในกระบวนการผลิตอาหารจำนวนมาก โดยใช้หลักด้านวิศวกรรมเครื่องกลมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับประเภทอาหาร โดยศึกษาเรื่องเครื่องฆ่าเชื้อ กลศาสตร์ของไหล เครื่องมือแปรรูปอาหาร หน่วยปฏิบัติการด้านวิศวกรรมอาหาร โดยใช้ศาสตร์วิชาด้านจุลชีววิทยา เคมี วิทยาการอาหาร

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรวิเคราะห์ วิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม วิศวกรควบคุมการผลิตอาหารและควบคุมความปลอดภัยด้านอาหาร

 วิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering)

ศึกษาเกี่ยวกับกลไกต่างๆของร่างกายทางสรีระวิทยาและชีววิทยาและการประยุกต์กับหลักการทางวิศวกรรมเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา หรือการช่วยในการในการบำบัดหรือตรวจวินิจฉัย
อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรเครื่องมือแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ ดูแล รักษา ซ่อมแซมเครื่องมือแพทย์ วิศวกรเครื่องมือแพทย์ในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์


 วิศวกรรมกระบวนการชีวภาพ (Bio Process Engineering)

ศึกษาความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพและกระบวนการผลิต มาประยุกต์ใช้กับวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค้าสินค้น การแปรรูปสินค้า วัตถุดิบการเกษตร

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรกระบวนการผลิต ควบคุมคุณภาพ วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมชีวภาพ


 วิศวกรรมโลจิสติกส์(Logistics Engineering)

ศึกษาหลักการออกแบบและวางแผนระบบการจัดการต่างๆ เช่นระบบคลังสินค้า ระบบการผลิต ระบบการกระจายสินค้า การวางเครือข่ายการคนส่งสินค้า การจัดซื้อจัดหา ผสมผสานกับความรู้ด้านวิศวกรรมอุตสาหการและวิศวกรรมโยธา

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรมีหน้าที่จัดการ ออกแบบระบบต่างๆ การจัดการผลิต การขนส่ง การตลาด ออกแบบผลิตภัณฑ์และจัดซื้อ


วิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering or Production Engineering)

ศึกษาด้านการจัดการ การออกแบบ และการควบคุมเครื่องจักรกลในกระบวนการผลิตสมัยใหม่ ช่วยให้องค์กรได้ประโยชน์สูงสุด การเพิ่มผลผลิตสูงสุด เพิ่มกำไรและประสิทธิการในการทำงาน โดยใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมด้านต่างๆมาบริหารโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา สามารถทำงานในภาครัฐและเอกชน เป็นวิศวกรอุตสาหการเพื่อออกแบบอุตสาหกรรม กระบวนการผลิต การบริหารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยทำงานในหน่วยงานราชการ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไฟฟ้า โทรคมนาคม เป็นต้น


 วิศวกรรมวัสดุ (Materials Engineering) หรือ วิศวกรรมโลหการ (metallurgical engineering)

ศึกษาเกี่ยวกับวัสดุศาสตร์ การขึ้นรูปโลหะ โพลิเมอร์ วัสดุเซรามิก แก้ว เทคโนโลยีการผลิตชิ้นงาน โดยการ ปาดผิว การตัด การเคลือบผิว เพื่อเพิ่มคุณภาพแก่ผลิตภัณฑ์ โดยใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมเครื่องมือ

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรประจำอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมงานหล่อ อุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ นักวิจัยด้านวัสดุศาสตร์


วิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aero space Engineering)

ศึกษา โดยใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล ออกแบบวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ เกี่ยวข้องกับอากาศยานและดาวเทียม โดยศึกษาด้าน อากาศพลศาสตร์ การควบคุม การขับดัน และศึกษาด้านวิชาการขับดันทางการบิน ระบบสัญญาณ

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา วิศวกรซ่อมบำรุงเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ควบคุมการบิน วิศวกรให้คำปรึกษาด้านอวกาศให้กับรัฐ

เอามาเฉพาะบางส่วนนะครับ ยอมรับว่ายังมีอีกหลายๆสาขาที่ ประเทศไทยเปิดแต่ไม่ได้หามาลง เพราะสาขาของวิศวกรรมศาสตร์ในไทยมีเยอะมาก

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.unigang.com/Article/6357

...........................
ที่มา: http://campus.sanook.com/1378227/



อยากเรียน "วิศวะ" รู้จัก "วิศวะ" ดีพอรึยัง อยากเรียน "วิศวะ" รู้จัก "วิศวะ" ดีพอรึยัง Reviewed by Unknown on 02:21 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น