กิน-ดื่ม-เที่ยว : ข่าวทั่วไป




นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกเงือกดำ
นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกเงือกดำ

                       เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “การประเมินและติดตามตรวจสอบพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก (IBAs) และความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย” สำหรับภาคใต้ น่าจับตามองครับว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่เข้าข่ายมีโอกาสถูกประกาศเป็น “พื้นที่สำคัญในการอนุรักษ์นก” หรือไอบีเอ (ไอบีเอ ย่อมาจาก Important Bird Area) หนึ่งในเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาคือพื้นที่นั้นๆ มีชนิดนกที่จัดว่ามีสถานภาพถูกคุกคามระดับโลกในบัญชีแดงของไอยูซีเอ็นอาศัยอยู่หรือไม่

                       เป็นที่ทราบกันว่าป่าต่ำดั้งเดิมในไทยนั้นแทบไม่เหลือแล้ว พื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ก็มักถูกประกาศครอบคลุมป่าตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไป ไม่ได้ครอบคลุมป่าที่ราบต่ำมากเท่าที่ควร นกที่มีความเฉพาะเจาะจงกับป่าต่ำหลายชนิดจึงใกล้สูญพันธุ์จากประเทศเต็มที โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสูญเสียถิ่นอาศัย อย่างไรก็ตาม หากสถานภาพระดับโลกของนกเหล่านั้นไม่จัดว่าน่าเป็นห่วง ก็ไม่อาจทำให้ป่าที่มันอาศัยอยู่เข้าเกณฑ์ประกาศเป็นไอบีเอได้ หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็น นกเงือกดำ (Black Hornbill) ซึ่งเป็นนกเงือกที่หายากที่สุดของไทยชนิดหนึ่ง

                       สำหรับประเทศไทย นกเงือกดำถูกจัดให้มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง (CR : Critically endangered) ในหนังสือ Thailand Red Data ร่วมกับ นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill) แต่ทั้งสองชนิดมีสถานภาพระดับโลกเป็นเพียงชนิดพันธุ์ใกล้ถูกคุกคาม (NT : Near-threatened) เท่านั้น ซึ่งก็มีป่าบางแห่งที่ไม่ได้เป็นไอบีเอ เคยมีรายงานการพบนกเงือกดำ เช่น อุทยานแห่งชาติศรีพังงา อุทยานแห่งชาติสันกาลาคีรี เป็นต้น

                       จริงๆ แล้ว นกเงือกดำเป็นนกเงือกที่ปรับตัวให้อาศัยอยู่ในป่าได้ค่อนข้างหลากหลาย พบได้ทั้งในป่าดิบ ป่าโปร่ง และป่าพรุ ด้วยความที่มีขนาดเล็กเช่นเดียวกับญาติในสกุลเดียวกันอย่าง นกแก๊ก (Oriental Pied Hornbill) มันจึงสามารถสร้างรังในโพรงของต้นไม้ที่ไม่ใหญ่มากได้ด้วย ถึงกระนั้น ปัจจุบันมันก็แทบไม่เหลือถิ่นอาศัยแล้ว เพราะป่าต่ำทุกประเภทถูกแผ้วถาง และเปลี่ยนเป็นสวนยางพาราหรือสวนปาล์มน้ำมันไปเกือบหมด

                       นกเงือกดำมักส่งเสียงร้องดังให้ได้ยินบ่อยกว่าเห็นตัว ทั้งสองเพศมีลักษณะต่างกันชัดเจน เพศผู้มีจะงอยปากและโหนกบนปากสีเหลือง บางตัวมีแถบสีขาวบริเวณข้างกระหม่อมยาวลงไปถึงท้ายทอยด้วย ส่วนเพศเมียมีจะงอยปากสีดำและมีโหนกที่เล็กกว่ามาก นอกจากนี้ยังมีหนังเปลือยสีแดงสดที่บริเวณคอและรอบตา

-----------------------

นกเงือกดำ


ชื่ออังกฤษ Black Hornbill, Malay Black Hornbill

ชื่อวิทยาศาสตร์ Anthracoceros malayanus (Raffles, 1822)

วงศ์ (Family) Bucerotidae (วงศ์นกเงือก)

อันดับ (Order) Bucerotiformes (อันดับนกเงือกและนกกะรางหัวขวาน)

-----------------------

คนอ่าน 903 คน


.......................................
ที่มา: http://www.komchadluek.net


กิน-ดื่ม-เที่ยว : ข่าวทั่วไป กิน-ดื่ม-เที่ยว : ข่าวทั่วไป Reviewed by Unknown on 03:32 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น